ยุทธพงษ์ สืบภักดี : ครูหนุ่ม

Archive for มีนาคม, 2022

ค่าย “Eco-friendly youth Camp”

by on มี.ค..18, 2022, under ครูหมีอยากเข้าป่า

ค่าย “Eco-friendly youth Camp” ดำเนินกิจกรรมโดย @กลุ่มใบไม้ สนับสนุนโดยมูลนิธิเอสซีจี (SCG)
@ Baimai Activity Space อ.บ้านนา จ.นครนายก

25-27 ตุลาคม 2562

เมื่อสักปลายเดือนกันยายน ได้รับข้อความจาก คุณเก่ง กลุ่มใบไม้ ชวนให้พาเด็กๆ มาร่วมกิจกรรม ค่าย “Eco-friendly youth Camp” ซึ่งปกติก็จะไปร่วมกิจกรรมกับ กลุ่มใบไม้บ่อยครั้ง ในเรื่องของการรณรงค์ การอนุรักษ์ การศึกษาธรรมชาติ สัตว์ป่า แม่น้ำ ประมาณนี้ แต่ครั้งนี้แปลกตรงที่ ชื่อค่าย ออกแนว Lifestyle การใช้ชีวิตอะไรทำนองนั้น พอได้พูดคุยกันก็พอเข้าใจว่าหมายถึง การให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างแนวทางการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นเอง ซึ่งพอได้ฟังแบบนั้นก็ตกลงไปในทันที

Eco หมายถึงอะไร?……ก่อนที่จะเขียนบทความผมไปค้นหาความหมายมา ปรากฏว่าเพิ่งรู้ว่าไม่มีในพจนานุกรม…..เป็นคำใหม่ จนไปค้นเจอ บทความนี้ “อีโค ที่ไม่ อีโก้ (Eco not Ego)” (https://en.mahidol.ac.th/EI/1089_6.html) เขียนโดย ผศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต เมื่อ กรกฏาคม 2552 ถึงได้เข้าใจความหมายของมัน (ลองอ่านดูครับ) ซึ่งบทความนี้เขียนไว้เมื่อ10 ปีที่แล้ว พอมาถึงในปัจจุบันนั้น ได้พัฒนาการใช้คำนี้ไปอย่างมากมาย โดยส่วนมากแล้วจะเกี่ยวข้องกับ อุตสาหกรรมต่างๆ

Eco-friendly หมายถึงอะไร แปลตรงตัวก็หมายถึง “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

สรุป ตามความเข้าใจที่ผมเข้าใจเอง คำว่า Eco หมายถึง การใช้ชีวิต ใช้สิ่งของ ใช้วัสดุ ทรัพยากร อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ซึ่งพอมาทำเป็นค่าย ทำให้เกิดกิจกรรมแปลกใหม่ไปจากระบบค่ายเดิมๆ เช่น ค่ายอนุรักษ์ โน่นนี้นั้น ค่ายพัฒนาโน่นนี้นั้น ฯลฯ ที่เด็กๆ และผมพอจะเดาออกว่าทำอะไรมั่ง แต่นี้….ไม่รู้จริงๆ ฮ่าๆ ว่าไปค่ายนี้แล้วจะต้องทำอะไรมั่ง นอกจาก “ลดขยะ”

สิ่งที่เด็กๆ และผม ต้องเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนไปค่ายคือ ไปค่ายนี้ ห้ามสร้างขยะนะ ฉะนั้นตั้งแต่เริ่มก็คือ ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ต้องไม่เป็นขยะ กล่องข้าว ช้อน แก้วน้ำ ต้องเป็นของที่นำไปเองและใช้ตลอดทั้งค่าย หรือแม้กระทั่งใช้ต่อไปหลังจบค่าย จนไปถึงในชีวิตประจำวัน ขนม ของกินห้ามซื้อ ฮ่าๆ ปกติ ไปค่ายจะอัดแน่นไปด้วยขนมต่างๆ แต่ค่ายนี้ ผมสั่งห้ามไว้

Baimai Activity Space คือจุดหมายปลายทาง ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ แล้วคืออะไร ที่ไหน อย่างไง ก็ถือโอกาสเล่าให้ฟังคร่าวๆ ก่อนเลย ไว้โอกาสหน้าจะมาเขียน บทความเฉพาะของสถานที่นี้ Baimai Activity Space คือ สวนของครอบครัวคุณเก่ง กลุ่มใบไม้ โดยเมื่อก่อนนั้นเวลากลุ่มใบไม้จะทำค่ายหรือกิจกรรมใดๆ ต้องไปหาสถานที่ เช่า ขอใช้ ขอความอนุเคราะห์ ก็เลยมีแนวความคิดว่า น่าจะมีี่สถานที่รวมตัวทำกิจกรรมของกลุ่มเองเพื่อจะได้พัฒนาต่อไปเรื่อย จึงเกิดเป็น Baimai Activity Space นี้ขึ้นมา

เดินทางมาจากลพบุรี ไม่ทันง่วง เพราะขับมา ชั่วโมงนิดๆ ใช้เส้นทาง บ้านนา-แก่งคอย ทิวทัศน์สองข้างทางผมชอบมาก มีต้นไม้ภูเขา บ้านเรือนไม่วุ่นวาย รถน้อย ขับสบายๆ แปปเดียวก็ถึง เมื่อมาถึงก็ตื่นตาตื่นใจกับการพัฒนาสถานที่ ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ผมเคยมาครั้งสุดท้ายเกือบปีที่แล้ว ในงาน ครบรอบ 10ปี กลุ่มใบไม้ (ไม่น่าเชื่อเกือบปีแล้ว เวลาผ่านไปไวมาก)

กิจกรรมช่วงเช้าเป็นการละลายพฤติกรรมของเด็กๆ ที่มาจากหลายที่ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ สนิทกัน รู้จักกัน ซึ่ง!!! ตรงนี้เป็นจุดสำคัญของการเริ่มค่าย และจุดแข็งของกลุ่มใบไม้เลย ซึ่งพี่เอ็นเตอร์เทนของกลุ่มคือ พี่เอ็ม กลุ่มใบไม้ สามารถทำกิจกรรมตรงนี้ได้อย่างสุดยอดมาก เด็กๆ เฮฮ่า สนุกสนาน เข้ากับพี่ๆ เพื่อนๆ ได้อย่างสนิทใจ ด้วยมุข เกม และเทคนิคแพรวพราว ของ พี่เอ็ม แปปเดียวเด็กๆก็สามารถพูดคุยกันได้อย่างเหมือนรู้จักกันมานาน…

ช่วงบ่ายเป็นการเริ่มเนื้อหาสาระของค่าย โดยแบ่งอออกฐาน 4 ฐาน
ฐานที่ 1 ทำไมต้องเป็นเรา เนื้อหาเกี่ยวกับ เหตุผลที่เราต้องทำไมเราถึงต้องเริ่มการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เป็น Eco-friendly โดยพี่เก่ง (ผมอยู่ช่วยฐานนี้) ประโยคที่ฟังแล้วเกิดการกระตุ้น คือ “พี่ทำเรื่องค่ายอนุรักษ์ การรณรงค์ อนุรักษ์ ชีวิต สัตว์ป่า ต้นไม้มานาน จนในที่สุดก็พบความจริงที่ว่า สิ่งที่พี่ทำไปรณรงค์ไป ปัญหา เกิดจาก มนุษย์ นั้นเอง” พี่เก่งกลุ่มใบไม้ จริงครับ ไม่ว่าจะเราจะไปบอกขนาดไหน พูดขนาดไหน แต่ถ้า มนุษย์ยังคงใช้ชีวิตแบบเดิม ปัญหาก็ยังคงอยู่ตลอดไป นี้คือที่มาของการทำค่ายนี้ ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตใหม่

ฐานที่ 2 Trash Station สถานีขยะ เป็นการบอกเล่าความรู้ การแยกขยะแบบละเอียด โดยเฉพาะ เรื่องของขยะที่สามารถ Recycle ได้ ต้องมีการแยกขนาดไหน ส่วนไหน ประเภทไหน ถึงจะ Recycle ได้จริงๆ ซึ่งบางอย่างผมก็เพิ่งรู้จริงๆ

ฐานที่ 3 4 Rs (Reduce Reuse Recycle and Repair) บอกเล่าถึงหลักการในการใช้วัสดุ อุปกรณ์อย่างคุ้มค่า หมุนเวียน ใช้ซ้ำ ลดการเพิ่มขยะ

ฐานที่ 4 Carbon Footprint คือ เรื่องราวของ การใช้ชีวิตประจำวัน ข้าวของ แล้วทำให้เกิด การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งแบบโดยตรงและทางอ้อม ซึ่ง หัวใจหลักของฐานนี้คือ เรื่องของ ทางอ้อมนี้ล่ะ แต่จะไปพูดกันต่อในตอนกลางคืน

ผ่านช่วงบ่ายไปเด็กๆเริ่มง่วง ฮ่าๆๆๆ อย่าว่าแต่เด็กเลย ผมยังแอบหนีไปนอน ZzZzZzzz เพราะเนื้อหาค่อนข้างวิชาการและความรู้ บวกกับอากาศที่แสนร้อนมีฝนตกนิดๆ ทำให้อบอ้าวขึ้นมาอีก ซึ่งพอเสร็จฐานตอนบ่ายก็เข้าสู่…กิจกรรม Highlight ของค่ายนี้คือ เด็กๆ ต้องไปจ่ายตลาดโดยไม่มีหรือสร้างขยะให้น้อยที่สุดจนถึงไม่มีเลย เพื่อนำกลับมาทำอาหารเย็นทานกันเองในวันนี้……..ความสนุกมันอยู่ตรงนี้….จะทำไงถ้าไปซื้อหมูสด เพื่อมาทำอาหารโดยไม่เอาถุงพลาสติก จะซื้อพริกแกงอย่างไงโดยไม่เอาถุง ไข่ กะทิ ผัก ผลไม้ เครื่องปรุง ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆ ให้เด็กๆไปแก้ปัญหาเอากับแม่ค้า…

ระหว่างรอทีมจ่ายตลาด ผมซึ่งรับอาสาดูแลงานครัวของเด็กๆ ก็เริ่มแบ่งหน้าที่ ก่อไฟ หุงข้าวด้วยหม้อสนาม เด็กๆ บางคนไม่เคยก่อไฟ ไม่เคยหุงหม้อสนาม บางคนถามว่าหม้อแค่นี้จะพอกินได้อย่างไง ทั้งกลุ่มมี 8-9 คน หุงแค่ 2 หม้อสนามเล็กๆ ผมเลยบอกไปว่า “เชื่อครูเถอะ กินไม่หมด 2 หม้อสนามนี้ทั้งกลุ่ม” …..

นั่งรอลุ้นทีมจ่ายตลาดกลับมาว่าได้อะไรมาบ้าง เด็กๆ ทยอยเอาของมาตั้งบนโต๊ะ ทุกอย่างแก้ปัญหาการใช้ถุงพลาสติกด้วยการ เอาถุงผ้า และกล่องข้าวที่เตรียมมาไปใส่ อาหาร เครื่องปรุงมาแทนใส่ถุงต่างๆ แต่บางอย่างก็แก้ไม่ได้เช่น เต้าหู้ไข่ที่อยู่ในหลอดพลาสติก วุ้นเส้นสดที่แพ็กมาในห่อ เพราะเมนูที่เด็กๆคิดคือ ต้มจืดเต้าหู้หมูสับ ซึ่งเด็กๆ ไม่รู้จะทำอย่างไง ซึ่งจริงๆวิธีแก้นั้นง่ายมากเลยครับ นั้นคือ…..ไม่ทำเมนูนี้ ไม่ใส่เต้าหู้ไข่ ไม่ใส่วุ้นเส้นสด มันก็จะไม่เกิดขยะแล้ว …อ้าวก็อยากกินต้มจืดง่ะจะให้ทำไง ง่ายมากครับ ทำเมนูต้มจืดหมูสับ ใส่ไข่เจียวตัดเป็นชิ้นๆ ทอดไฟอ่อนๆ กับผัดกาด ซดน้ำ ก็เพียงพอแล้ว……จริงไหมครับ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการสอนเด็กๆไปในตัวว่า ถ้าเราใส่ใจสักนิด คิดสักหน่อย ในการไปจ่ายตลาดเพื่อทำกับข้าวในชีวิตประจำวัน เราก็ไม่ต้องก่อให้เกิดขยะเลยได้ ไม่ยากอย่างที่คิดเลย……..

หลังจากอิ่มกันแล้วก็เข้าสู่ช่วงกลางคืน บรรยากาศ ชิวมาก อากาศเย็น ลมพัด…คืนนี้จะเป็นการ เสวนา บรรยายให้ความรู้โดย องค์กร Green Style ในหัวข้อ “โลกและสิ่งแวดล้อม” พี่ทีมวิทยากรบรรยายและพูดคุยให้เข้าใจถึง การใช้ชีวิตที่ทำให้เกิดภาวะ Carbon Footprint ทุกกระบวนการทำให้เกิด การปล่อยก๊าซเรือนกระจก บอกเล่าให้เด็ก ๆ ฟังว่า ทุกอย่างที่เราทำนั้น จะเกิด Carbon Footprint ทั้งทางตรงและทางอ้อมเสมอ โดยส่วนมากมนุษย์เราจะคิดถึงแต่ทางตรง เช่น ทำปุ๊บเกิดผลปั๊บ แต่ในความเป็นจริงแล้วคือ ทุกอย่างเมื่อเราคิดย้อนกลับไปในกระบวนการผลิตจะเกิดผลมากกว่าเดิมมากมาย กิจกรรมที่ผมชอบ คือ การให้เด็กๆ เลือกผลิตภัณฑ์ ที่วันนี้เด็กๆได้ใช้ผ่านมือไป นั้นคือ มือถือ ปลากระป๋อง ขนมโดโซะ ข้าวต้มมัด แล้วให้เด็กย้อนกระบวนการผลิตกลับไปที่ต้นทางว่า กว่าจะเกิดผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ขึ้นมามีช่วงไหนเกิดการสร้างภาวะ Carbon Footprint บ้าง ซึ่งผลที่ออกมา น่าตกใจเลยที่เดียว……..เพราะ…..ทุกอย่าง ทุกขั้นตอนล้วนแต่ทำให้เกิด Carbon Footprint ทั้งนั้น…….

ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้ ผมบอกเลย ดีใจครับ ฮ่าๆๆๆๆ เขียนมายาวมาก ที่นี้ ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะคิดว่า “อะไรคิดมากไปหรือเปล่า มันก็ของจำเป็นต้องกินต้องใช้ไม่ใช่ไง” ใช่ครับ ของจำเป็นต้องใช้ ต้องกิน ไม่ผิดครับผมก็ใช้อยู่ คนบรรยายก็ใช้อยู่ วิทยากร พี่ๆ ทุกคนก็ยังใช้อยู่ เพียงแต่……เจตนาของกิจกรรมนี้ คือ ต้องการให้ตระหนักถึงการใช้สิ่งของให้คุ้มค่ามากที่สุด หรือไม่ใช้แบบไร้เหตุผลนั้นเองครับ ซึ่งผมมองว่ามันคือเรื่องจริงครับ…..

หลังจากนั้นก็เข้าสู่ช่วงสันทนาการของค่าย สนุกสนานกันพอสมควรก็พักผ่อนจบวันแรกไปแบบแน่นด้วยเนื้อหา สาระมาก

เช้าวันที่ 2 ของค่าย ตื่นขึ้นมาตอนเช้า อากาศหนาวเลย มีน้ำค้างหนักมาก เดินชมสวน Baimai Activity Space แล้วก็สดชื่น อาบน้ำแต่งตัว ชิมกาแฟที่มุมบริการกาแฟของกลุ่มใบไม้ที่ ขนกาแฟสด บดเอง ทั้งแบบดริป และต้ม มีโอวันติน ชา ขนมบริการ มีเพลงฟังเพราะๆ นั่งจิบกาแฟในบรรยากาศอย่างกับ Shop แถว รามอินทรา…..

กิจกรรมเช้าให้เด็กเลือกระหว่างออกไปสำรวจนกในธรรมชาติ กับสำรวจธรรมชาติต่างๆ ภายในสวนแล้วเก็บดอก ใบ หิน ต่างๆ มาทำสีน้ำวาดภาพ ในส่วนของสำรวจนก น่าทึ่งมากที่ บริเวณนี้ มีนกแก้ว!!!!! นกแก้ว!!!! นกแก้ว!!!!!!!!!!!!!! จริงๆในธรรมชาติ กลางเมืองนครนายก ที่พบคือ นกแก้วโม่ง ผมเห็นครั้งแรกยังตกใจว่า มีได้ไง ตัวใหญ่มาก และจากคำบอกเล่าของพี่เก่ง บอกว่าพบเจอประจำอยู่กับกันฝูง 7-8 ตัว พี่พีช อาสาในกลุ่มใบไม้ นำข้อมูลไปรายงาน eBird ได้รับการติด Rare ใน list ว่าพบเจอได้ยากมากในธรรมชาติ (หาดูภาพได้ในอัลบัม)

เสร็จกิจกรรมช่วงเช้าก็เข้าสู่กิจกรรมหลักของค่ายในวันนี้ Workshop ในการสร้างเครื่องมือ ข้าวของเครื่องใช้ อาหาร อุปกรณ์ในการใช้ชีวิต ในแบบ Eco-friendly 4 ฐาน

ฐานที่ 1 การทำภาชนะใบตอง จากกลุ่มลูกมะปราง ซึ่งเด็กๆจะได้ทำกระทงใบตองเพื่อนำไปใช้ในการทำอาหารกันตอนเย็นนี้

ฐานที่ 2 ปลูกผักกินเองแบบอินทรีย์ จาก วิทยากร V.I.P. Farm นครนายก ซึ่งอันนี้ผมสนใจมากอยากทำเองที่บ้าน ตอนนี้เริ่มสั่งของมาลองทำละ เอาแค่พอกินเอง

ฐานที่ 3 การเย็บถุงผ้าเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน จ่ายตลาด ใส่ของ โดย พี่น้ำ อาสากลุ่มใบไม้

ฐานที่ 4 การผลิตสีน้ำจากวัสดุธรรมชาติรอบตัวเพื่อวาดภาพ ระบายสี โดยไม่ใช่สารเคมี โดยพี่พลอยกลุ่มใบไม้

ช่วงบ่าย ให้เด็กๆ ได้รู้จักกับ กลุ่ม ทีม องค์กร ร้านค้า หรือ ธุรกิจ ที่ดำเนินกิจกรรมแนว Eco-friendly ในโลกของ Social media ที่มีความน่าสนใจอยู่มากมายและดำเนินกิจกรรมอยู่ โดยให้เด็กๆ วิเคราะห์ จุดเด่น ความน่าสนใจในแต่ละกลุ่มออกมา ว่าทำไมถึงดี ทำไมถึงน่าสนใจ มีประโยชน์อย่างไรกับการดำเนินชีวิตและให้ นำเสนอสิ่งีท่ได้วิเคราะห์มาให้พี่ๆทีมงานฟัง

พอช่วงเย็นก็เตรียมตัวจ่ายตลาดทำกับข้าวมื้อเย็น ซึ่งวันนี้มีความพิเศษ ซึ่งเป็นคืนสุดท้ายของค่าย มีการเตรียมกองไฟ มีอาหารพิเศษจากค่าย นั้นคืออออ…..ไก่อบฟาง หรือ ไก่อบปีบ นั้นเอง สร้างความสนุกสนามเฮฮ่าและลุ้นกันเป็นอย่างมากว่าจะได้กินดีไหม ผลเป็นไงนั้นเหรอ อิอิ…… มีการทำห่อหมกหัวปลี การทำไข่ป่าม ย่างไฟอ่อนๆ น่ากินและอร่อยมากเลย วันนี้เรียกได้ว่า อิ่มจริงๆ มาค่ายนี้ไม่มีอดครับ ฮ่าๆๆๆ

ช่วงกลางคืนวันนี้มีวิทยากร พี่แอน จาก Refill Station มาบรรยายความเป็นมาของการก่อตั้ง Refill Station จนมาเป็นธุรกิจในปัจจุบัน จากที่พี่แอน เคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่มใบไม้ เป็นนักอนุรักษ์ จนนำสิ่งที่ตัวเองเชื่อและยึดถือไปปรับใช้จนสามารถทำธุรกิจโดยที่ตัวเองนั้นยังคงไม่ลืมอุดมการณ์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของตนเองได้อย่างลงตัว….. Highlight ของคืนนี้ คือ…..การชมภาพยนต์สารคดี ของการที่มนุษย์นั้นทำให้โลกนี้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ใครได้รับผลกระทบมากที่สุด ….เรียกได้ว่า ดราม่าเข้มข้น ผมนั่งกลืนน้ำลายเอื้อกๆเลย น้ำตาคลอไหลริน จนในที่สุดทนไม่ไหวกับภาพสุดท้ายก่อนที่จะลุกออกมา นั้นคือ ภาพที่ “ถ่ายภาพหมีขาวขั้วโลกกำลังว่ายน้ำเพื่อไปหาก้อนน้ำแข็งที่มันต้องอยู่และพักหากิน ภาพค่อยๆ Zoom Out ออกจากตัวหมีขาวที่กำลังว่ายน้ำอยู่ตัวใหญ่ๆ ค่อยๆไกลออกมา ออกมา ……ออกมา………………….ออกมา……. จากหมีตัวใหญ่ๆ จนภาพสุดท้ายนั้นคือ หมีเหลือ จุดสีขาว จุดเล็กๆ จุดเดียวในจอ เล็กขนาดจุดปากกา อยู่ที่มุมขวาล่างของจอ แล้วมุมซ้ายบนของจอเป็นภาพ ก้อนน้ำแข็งที่มันต้องว่ายไปให้ถึง…..เพื่อเอาตัวรอด…….ผมน้ำตาไหล ใจสั่น ต้องลุกออกมาข้างนอก ผ่อนคลายอารมณ์ สะเทือนใจที่สุด (ขนาดกำลังพิมพ์ตอนนี้น้ำตายังคลอเลย) ………….มนุษย์แค่ไม่กี่ปี สามารถทำให้ น้ำแข็งละลายไปมากเกิน 60-70% ของที่มีอยู่จนแทบไม่เหลือพื้นที่น้ำแข็งให้ สัตว์ใช้ชีวิตต่อไปอีกแล้ว …………………………

สุดท้ายของกิจกรรมนี้คือ การให้เด็กๆ สัญญา ถ่ายทอด บอกเล่า สิ่งที่ตัวเองจะทำ จะเล่าต่อ จะบอกต่อ ผ่านกระดานไม้ที่ตอกตะปูและเขียนปัญหาไว้ว่าอะไรทำให้ชีวิต โลก สังคม เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้าง โดยให้เด็กนำเชือกไปผูกสิ่งเหล่านั้นเข้าหากัน เป็นการบอกเล่าว่าสิ่งที่เรา(เด็ก)คิดว่า ปัญหาคืออะไร ต้องแก้อย่างไง ด้วยตนเอง………………จบค่ำคืนนี้ไปด้วยความตื่นตัวของเด็กๆ และอารมณ์ที่เศร้านิดๆ คืนนี้เลยปล่อยให้เด็กๆได้ใช้เวลา นอนดูดาว ดูหิ่งห้อย พูดคุย พักผ่อนกันได้อย่างอิสระ จนน้องๆ เข้านอนจนครบทุกคน พี่ๆก็ทยอย พักผ่อนกันไป ท่ามกลาง อากาศที่เย็นสบาย ดาวสวย และกลิ่นกองไฟ ควัน ที่คุ้นเคยของชาวค่าย………………

เช้าวันที่ 3 วันสุดท้าย….เมื่อคืนได้นั่งคุยกันกับคุณเก่งและทีมใบไม้ ว่า อยากให้เด็กๆ ได้ มีช่วงเวลาของตัวเอง ที่ไม่ต้องทำกิจกรรม ให้เลือกที่จะทำอะไรได้ตามใจโดยเน้นที่ ยุ้งข้าว ที่เป็นจุดศูนย์กลางของ Baimai Activity Space ที่มีหนังสือ อุปกรณ์มากมายให้ศึกษาค้นคว้า…ก็ตกลงกันว่าจะให้เวลาในช่วงเช้าวันนี้ปล่อยให้เด็กๆใช้เวลาตามใจตัวเอง ตอนแรกก็นั่งลุ้นว่าเด็กๆจะอินเนอร์ไหม ผลปรากฏว่า ได้!!!! เด็กๆ สนใจอ่านหนังสือ นั่งทดลอง ทำสี วาดภาพ เขียนหนังสือ ส่อง ทดลอง กล้องจุลทรรศน์ ตัวอย่างของน้ำ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆต่างๆ ได้อย่างน่าประทับใจพี่ๆ ทีมงานมาก

หลังจากนั้นเข้าสู่ ช่วงสุดท้ายของค่าย นั้นคือ การเปิดโอกาสให้เด็กๆ คิดโครงการ กิจกรรมที่ตัวเองอยากจะทำขึ้นมา โดยใช้ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก จากที่ได้รับในค่ายนี้เป็นแรงพลังผลักดัน ให้เกิดการขยายตัวออกไปสู่ภายนอก หลังจากจบค่ายนี้ไปแล้ว แล้วมานำเสนอให้ พี่ๆ SCG และกลุ่มใบไม้ฟัง ซึ่งพอได้ฟังน้องๆ นำเสนอแล้ว น่าสนใจมาก อยากจะกลับไปทำที่ ร.ร. ที่ บ้าน ที่ชุมนุมของตนเองเลย หลายๆอย่าง เก็บไว้เป็นข้อมูลในการรอโอกาส จังหวะ เงินทุน แล้วจะชวนเด็กๆลงมือทำกันเลย…….

จบค่าย…..สุดท้าย นั่งพูดคุย บอกเล่า ความในใจ ความประทับใจ ซึ่งกันและกัน ก่อนจะช่วยกันเก็บค่ายและเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อนำความรู้ ความรู้สึกนี้กลับไปพัฒนาที่ท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งผมได้ฝากให้เด็กๆ ได้คิดไว้ว่า

“อย่าไปคาดหวังว่าทุกคนจะเป็นอย่างที่เราต้องการให้เป็น อย่าพยายามเปลี่ยนเค้าให้เป็นอย่างที่เราคิด แต่จงเริ่มต้นจากตัวเองที่บ้าน ที่ ร.ร. ค่อยๆ ทำไปจนคนอื่นเห็น คนอื่นชอบ คนอื่นสนใจ เราจึงค่อยบอกเล่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาให้เค้าฟัง”

ตัวผมเองก็ไม่ใช่ว่าจะเลิกใช้สิ่งของที่ทำให้เกิดขยะเลย ทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ แต่มีความตั้งใจไว้ว่าเมื่อเราใช้ อย่างน้อยๆ ต้องใช้มันให้คุ้มค่า เอามาใช้อีก ใช้จนมันคุ้มค่าในตัวมัน เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยลด ขยะที่เกินความจำเป็นไปได้เยอะมาก ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ ไม่นานก็จะกลายเป็น วัฒนธรรมความเคยชิน และช่วยสิ่งแวดล้อมไปอย่างยั่งยืน ตลอดไป……

ถ้าไม่มีธรรมชาติที่สวยงาม แล้วเราจะยังใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขไหม ผมไม่รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไง รู้แต่ตัวเองชอบที่จะใช้ชีวิตอยู่ในความสวยงามของธรรมชาติ ฉะนั้นผมต้องเริ่มทำจากตัวผมเอง……

“ธรรมชาติสร้างศิลปะ ศิลปะสร้างคน”

ครูหมีอ้วน
29 ตุลาคม 2562

รูปภาพจากเด็กๆ ที่ไปร่วมค่ายส่งมาให้ ผมถ่ายแค่รูปเดียวหน้าปก รอรูปอย่างเป็นทางการได้ที่ @กลุ่มใบไม้

ปิดความเห็น บน ค่าย “Eco-friendly youth Camp” more...

U18 Lopburi

by on มี.ค..18, 2022, under ทีมบาสหมีคะนองศึก

U18 Lopburi

ปิดความเห็น บน U18 Lopburi more...

ศิลปะสื่อผสม?

by on มี.ค..05, 2022, under ครูหมีสอนศิลปะ

การสร้างสรรค์งานสื่อผสมจากเศษวัสดุ ภายใต้หัวข้อ “โบราณสถานแห่งจังหวัดลพบุรี” ได้ที่ 3

ศิลปะ หมายถึงอะไร?
ศิลปะสื่อผสม หมายถึงอะไร?
สื่อผสม หมายถึงอะไร?
ความงาม ความประณีต ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึงอะไร?
เตรียมตัวค้นหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้เด็กๆ ในปีการศึกษาต่อไป

หัวข้อนี้ใช้ในการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

บทความและเอกสารอ้างอิง “สื่อผสม (Mixed Media Art)”

สื่อผสม (Mixed Media Art) คำว่า ศิลปะสื่อประสม หรือ ศิลปะสื่อผสม หมายถึง ผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นโดยใช้เทคนิคและวิธีการของศิลปะทางด้านทัศนศิลป์หลาย ๆ แขวงมาผสมผสานทำให้เกิดผลงานที่อยู่ในชิ้นเดียวกัน เน้นหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ แสดงออกถึงอารมณ์สะเทือนใจของผู้สร้าง ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการสร้างผลงานสื่อผสมสามารถหาได้จากวัสดุธรรมชาติ เช่น วัสดุจากพืช สัตว์ และแร่ วัสดุสังเคราะห์ เช่น กระดาษ โลหะ เป็นต้น

สื่อผสม (Mixed media art) เป็นงานวิจิตรศิลป์ที่ผสมผสานสื่อหลาย ๆ ประเภทเข้าด้วยกัน ได้แก่ งานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ หรืองานวาดเส้น ศิลปะสื่อผสมอาจมี ๒ ลักษณะ เป็น ๒ มิติ หรือ ๓ มิติ ก็ได้

เกณฑ์การให้คะแนน 100 คะแนน
– ความคิดสร้างสรรค์ 20 คะแนน
– เทคนิควิธีการสร้างสรรค์ 20 คะแนน
– ความประณีต/ความสวยงาม 20 คะแนน
– ความสอดคล้องของงานกับหัวข้อที่กำหนด 20 คะแนน
– ความสมบูรณ์และการจัดองค์ประกอบ 20 คะแนน

ค้นหาความหมายของคำว่า ศิลปกรรมสื่อผสม อ้างอิงจาก http://ithesis-ir.su.ac.th/dspace/handle/123456789/862
ปิดความเห็น บน ศิลปะสื่อผสม? more...

โมเดลโคก หนอง นา

by on มี.ค..05, 2022, under ครูหมีสอนศิลปะ

วีดิโอนำเสนอชุดนี้เรื่อง โมเดล โคก หนอง นา เป็นการแข่งขันในการทำโมเดล

ซึ่งปีที่ผ่านมาได้รับรางวัลชนะเลิศ ในปีนี้จึงได้ทำการเข้าร่วมการแข่งขันต่อซึ่งแบบในปีนี้ ใช้เป็นแบบมาตรฐาน โคก หนอง นา โมเดล พื้นที่ขนาด 3 ไร่ ซึ่งปีที่ผ่านมาใช้แบบ 1 ไร่ ทำให้พื้นที่ในการทำแบบนั้นค่อนข้างเล็ก เลยเลือกที่จะทำใหญ่ขึ้น โดยใช้ scale 1:200 ในการทำ…..ปัญหาแรกที่พบเลยคือ แบบต่างๆจะเล็กมาก….ระดับมิลลิเมตร ไม่เหมือน ของปีที่แล้วที่ใช้ขนาด 1 ไร่ เลยใช้ scale 1:100 ซึ่งยังอยู่ในระดับ เซนติเมตรเป็นส่วนมาก…..แต่ก็ท้าทายไปอีก

งานทั้งหมด และตลอดมา ผมกล้าพูดได้เลยว่าผมไม่เคยลงมือทำให้เด็กเลย ทุกอย่างเป้นฝีมือเด็ก 100% ผมแค่มีหน้าที่จัดหาอุปกรณ์ให้เพื่อความภาคภูมิใจของเค้า ผลงานชึ้นนี้ก็เช่นกัน ในปีนี้ได้รางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 (ที่ 2) แพ้ไปอย่างน่าเสียดาย ตามคำแนะนำของกรรมการคือ เรายังอธิบายไม่ละเอียดพอเท่ากับทีมที่ได้ที่ 1 น่าเสียดายจริงๆครับ เชิญชมได้เลยครับ

ปิดความเห็น บน โมเดลโคก หนอง นา more...

ทีมงานคุณภาพ

by on มี.ค..05, 2022, under ครูหมีสอนศิลปะ

วีดิโอนำเสนอนี้ ส่งประกวดในการแข่งขัน ประกวด Clip/ VDO การจัดการโควิดในชุมชนของฉัน

จากหัวข้อ ครูและนักเรียนแกนนำได้ไตร่ตรองออกมาแล้วว่า คำว่า “ชุมชนของฉัน” นั้น คำว่า ชุมชน ตามความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้ว่า ชุมชน (น.) หมู่ชน กลุ่มคนที่อยู่รวมกันเป็นสังคมขนาดเล็ก อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันและมีผลประโยชน์ร่วมกัน.

และจากบทความอื่นๆ ที่ค้นหาได้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้จำกัดความไว้ว่า โดยสรุปได้ว่า ชุมชน คือ กลุ่มคนที่รวมตัวกันขนาดเล็ก มีพื้นฐานในการดำรงชีวิต ใช้ทรัพยากรร่วมกัน พื้นที่และใช้ชีวิตส่วนมากในการอยู่รวมกัน เมื่อรวมกับคำว่า “ฉัน” ทำให้นึกถึง วิถีชีวิตของตัวเรา (เด็กนักเรียน) ที่ใช้ชีวิตส่วนมากในโรงเรียนมากกว่า 70% (จ-อา) เมื่อตีความจากโจทย์ที่ให้มาคือ “การจัดการโควิดในชุมชนของฉัน” จึงสรุปออกมาได้คือ

การควบคุม ดูแล ป้องกัน ปฎิบัติตนในการใช้ชีวิตในโรงเรียน(ชุมชน)ของฉัน

เมื่อได้แนวความคิดมาแล้ว เด็กๆ ก็ได้ลงมือทำ โดยการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราจะต้องพบเจอเฝ้าระวัง ป้องกัน ในการใช้ชีวิตที่โรงเรียน จนออกมาเป็นวีดิโอชุดนี้

ในการทำงานนี้คือการทำงานแบบ Production เต็มรูปแบบของเด็กๆ โดยมีผมเป็น Producer ดูแลและอำนวยการผลิต เริ่มตั้งแต่การคิด Concept , Pre-Production , Storyboard , Blockshot , Production และ Post-Production ซึ่งตอนทำสนุกสนานกันมากเลย และที่ไม่คาดคิดคือ การทำงานในขั้นตอนของ Post-Production นั้นเด็กๆ ทำกันได้อย่างเหลือเชื่อ ทั้ง Director (ฟ้า) Director of Photography (มด) Continuity (ปิ่น) Art Director (ปลื้ม) Editor (ปิ่น) Motion Graphic (กัส เซล) และ Actor (แอ้ม น้อยหน่า กิม) ที่ช่วยกันขนของและจัดฉากอย่างพร้อมเพียง ผมไม่ได้ลงมือทำอะไรเลยนอกจาก ช่วยดูในส่วนของ Post ว่าต้องเพิ่ม ลด อะไรแค่นั้นเอง กล้าพูดได้เลยครับว่าทุกอย่างใน วีดิโอนี้ ฝีมือเด็กล้วนๆ 100% ประทับใจมากครับ นี้คือทีมในฝันเลย ขอบคุณเด็กๆมากนะครับ ถึงแม้ว่าเราจะได้ที่ 2 ก็ตามฮ่าๆๆๆ แต่ครูเชื่อว่า วีดิโอนี้มีคุณค่ามากในด้านการสื่อสารไปถึง “วิถีชีวิตในชุมชนของฉัน” ขอบคุณเด็กๆ ทุกคนครับ

ปิดความเห็น บน ทีมงานคุณภาพ more...

การแข่งขัน?

by on มี.ค..05, 2022, under ครูหมีสอนศิลปะ

ซ้อมกันมา 15 วันเต็ม ขอบคุณเด็กๆทุกคนครับวันนี้คงเหนื่อยกันมาก วันนี้คงได้ประสบการณ์ที่ดีของโลกแห่งการแข่งขันสมหวังผิดหวังบ้าง รางวัลเป็นของตอบแทนที่ได้มามากกว่าคือประสบการณ์ ใครทำใครได้ใครตั้งใจได้เรียนรู้

ปิดความเห็น บน การแข่งขัน? more...

U-18 LOPBURI อีก 55 วัน

by on มี.ค..05, 2022, under ทีมบาสหมีคะนองศึก

U-18 LOPBURI อีก 55 วัน

ปิดความเห็น บน U-18 LOPBURI อีก 55 วัน more...

Looking for something?

Use the form below to search the site:

Still not finding what you're looking for? Drop a comment on a post or contact us so we can take care of it!

Visit our friends!

A few highly recommended friends...